คำถามที่พบบ่อย

1.

ถาม 

กำหนดการลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียน

 

ตอบ 

1.    ลงทะเบียนปกติตามกลุ่มของตัวเอง (ออนไลน์) ก่อนเปิดภาคเรียน 2 สัปดาห์

2.   งทะเบียนเพิ่ม-ถอนรายวิชา (ออนไลน์) ก่อนเปิดภาคเรียน 1 สัปดาห์

3.   งทะเบียนเพิ่ม-ถอนรายวิชากรณีพิเศษ (นิสิตต้องดำเนินการด้วยตนเองที่คณะ/งานทะเบียน -
มีค่าธรรมเนียมเพิ่มกรณีพิเศษ หน่วยกิตละ 100 บาท) ภายในสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน

4.   การชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา 60 วัน นับจากวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเพิ่ม - ถอนรายวิชา
กรณีพิเศษ





2.

ถาม 

การชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา (ค่าเทอม) 

 

ตอบ 

1.   นิสิตสามารถเลือกชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ 2 แบบ คือ

1.1   ชำระเต็มจำนวน ผ่าน bill payment โดยชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาทั้งหมดภายใน 60 วัน (2 เดือน) นับจากวันสุดท้ายของการลงทะเบียน เพิ่ม-ถอนรายวิชากรณีพิเศษ

1.2  แบ่งชำระเป็น 2 งวด ผ่าน bill payment

1.2.1    งวดที่ 1 ชำระภายใน 30 วัน นับจากวันชำระค่าเทอมวันแรก

1.2.2   งวดที่ 2 ชำระภายใน 30 วัน นับจากวันสุดท้ายของกำหนดวันชำระเงินงวดที่ 1

2.   กรณีที่นิสิตไม่ชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาภายในวันที่กำหนด สามารถติดต่อขอชำระได้ที่ฝ่ายคลังฯ
โดยมีค่าปรับวันละ 20 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,500 บาท
*ทั้งนี้ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่มหาวิทยาลัยกำหนด หากพ้นกำหนดแล้วนิสิตต้องดำเนินการรักษาสภาพการเป็นนิสิต

 

 



3.

ถาม 

การโอนรายวิชาที่เคยเรียนมาจากมหาวิทยาลัยอื่น/มหาวิทยาลัยทักษิณ/ระบบ Tsu For All  สามารถทำได้ไหม/ทำอย่างไร

 

ตอบ 

รายวิชาที่จะขอโอน ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.     ได้ระดับขั้นไม่ต่ำกว่า C

2.    ดำเนินการเทียบรายวิชาก่อนขอโอนรายวิชา (กรณีวิชาได้รับการเทียบแล้ว สามารถขอโอนรายวิชาได้เลย)

3.    ค่าธรรมเนียมการโอนรายวิชาหน่วยกิตละ 100 บาท

4.    ไม่นำผลการเรียนรายวิชาที่โอนมาคำนวณค่าระดับขั้นเฉลี่ยสะสม

5.    ระบุรายวิชาที่โอนในระเบียนนิสิตว่าเป็นรายวิชาที่รับโอนมา

 

1.     การโอนรายวิชาจากการศึกษาในระบบ

1.1    นิสิตยื่นคำร้องขอโอนรายวิชาต่องานทะเบียนนิสิต

1.2   งานทะเบียนนิสิตตรวจสอบรายวิชาที่นิสิตขอโอนรายวิชา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี/ระดับบัณฑิตศึกษาพ.ศ. 2566 เรื่อง การเทียบรายวิชา และการโอนรายวิชา

1.3   หัวหน้าส่วนงานวิชาการพิจารณาให้ความเห็นชอบ

1.4   รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ

1.5   นิสิตชำระค่าธรรมเนียมการโอนรายวิชา หน่วยกิตละ 100 บาท

1.6   งานทะเบียนนิสิตบันทึกรายวิชาที่ขอโอนเข้าสู่ระบบงานทะเบียนนิสิต

1.7   นิสิตต้องดำเนินการขอโอนรายวิชาให้เสร็จสิ้นภายในปีการศึกษาแรกที่นิสิตเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

2.    การโอนรายวิชาจากการศึกษานอกระบบ

2.1    นิสิต/ผู้เรียนยื่นคำร้องขอโอนรายวิชา และชำระเงินค่าธรรมเนียมการโอนรายวิชา
หน่วยกิตละ 100 บาท

2.2   งานทะเบียนนิสิตประกาศรายชื่อผู้ขอโอนรายวิชา

2.3   นิสิต/ผู้เรียนตรวจสอบรายชื่อผู้ขอโอนรายวิชาได้ที่ระบบงานทะเบียนนิสิตหลังจากยื่นคำร้องภายใน 1 สัปดาห์

2.4   งานทะเบียนนิสิตบันทึกผลการเรียนเข้าสู่ระบบงานทะเบียนนิสิต

2.5    นิสิต/ผู้เรียนตรวจสอบข้อมูลการโอนรายวิชาในระบบทะเบียนนิสิต ดังนี้

2.5.1   ตรวจสอบรายวิชาที่โอนได้ที่ เมนู : ผลการศึกษา

2.5.2  ตรวจสอบรายวิชาที่โอนและโครงสร้างหลักสูตรได้ที่ เมนู : ตรวจสอบจบ

2.5.3  ตรวจสอบใบเสร็จค่าธรรมเนียมการโอนรายวิชาได้ที่ เมนู : รายการใบเสร็จ





4.

ถาม 

การถอนรายวิชา (ติด W) สามารถทำได้อย่างไร

 

ตอบ 

1.     นิสิตดำเนินการถอนรายวิชาด้วยตนเองผ่านระบบงานทะเบียนนิสิต

2.    ต้องถอนรายวิชาอย่างน้อย 7 วันทำการก่อนวันแรกของการสอบปลายภาค

3.    รายวิชาที่ถอนจะปรากฏสัญลักษณ์ W ในใบแสดงผลการเรียน



5

ถาม 

 ติด F ต้องทำอย่างไร

 

ตอบ 

1.     นิสิตลงทะเบียนเรียนซ้ำในรายวิชาเดิมที่ได้ค่าระดับขั้น F

2.    เลือกเรียนรายวิชาอื่นในหมวดวิชาเดียวกันแทนได้ โดยต้องเป็นรายวิชาที่มีหน่วยกิตเท่ากับ หรือมากกว่ารายวิชาที่ได้ค่าระดับขั้น F

3.    ได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา คณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตรประธานสาขาวิชา

4.    ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนงานวิชาการที่นิสิตสังกัดก่อนลงทะเบียนเรียน



6

ถาม 

การขอขยายหน่วยกิต

 

ตอบ 

1.     ในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ลงทะเบียนได้ไม่เกิน 22 หน่วยกิต ภาคเรียนฤดูร้อนไม่เกิน
9 หน่วยกิต

2.    นิสิตสามารถขอขยายหน่วยกิตได้ ในกรณี ภาคเรียนที่ลงทะเบียนรายวิชาฝึกงาน ฝึกงานภาคสนาม สหกิจศึกษา การโอนหน่วยกิตจากระบบคลังหน่วยกิตและในภาคเรียนที่จะสำเร็จการศึกษา

3.    ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเรียนมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

4.    ได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้าภาควิชาหรือประธานสาขาวิชา

5.    ได้รับอนุมัติจากรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมาย



7

ถาม 

การจำแนกสภาพนิสิต พ้นสภาพนิสิต คืนสภาพ

 

ตอบ 

การจำแนกสภาพนิสิต

1.     สำหรับนิสิตที่เข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2566

1.     กำลังศึกษา (ปกติ) คือ นิสิตที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 1.80

2.    กำลังศึกษา (รอพินิจ) คือ นิสิตที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมอยู่ระหว่าง 1.50 ถึง 1.79 ต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่เกิน 4 ภาคเรียนที่มีการจำแนกสภาพ

2.    สำหรับนิสิตที่เข้าศึกษาปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

1.     กำลังศึกษา (ปกติ) คือ นิสิตที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00

2.    กำลังศึกษา (รอพินิจ) คือ นิสิตที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมอยู่ระหว่าง 1.50 ถึง 1.99 ต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่เกิน 4 ภาคเรียนที่มีการจำแนกสภาพ

การพ้นสภาพนิสิต

นิสิตจะพ้นสภาพในกรณีต่อไปนี้

1.     สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรและได้รับอนุมัติให้ปริญญา

2.    ได้รับอนุมัติให้ลาออก

3.    ถูกคัดชื่อออกจากมหาวิทยาลัย ในกรณีดังต่อไปนี้

3.1    ไม่รายงานตัวเป็นนิสิตตามวันที่มหาวิทยาลัยกำหนด

3.2   มารายงานตัวเป็นนิสิตแต่ไม่ลงทะเบียนเรียน ไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาในภาคเรียนแรก

3.3   เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ภาคเรียนแล้วไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อรักษาสภาพนิสิตหรือลาพักการเรียน

3.4   เมื่อระยะเวลาการศึกษาครบ 8 ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตร 4 ปี หรือ 10 ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตร 5 ปี หรือ 12 ปีการศึกษาสำหรับหลักสูตรไม่น้อยกว่า 6 ปี แล้วยังมีจำนวนหน่วยกิตสอบได้ไม่ครบตรงตามหลักสูตร หรือได้รับคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00

3.5   ขาดคุณวุฒิหรือคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

3.6   ค่าระดับขั้นเฉลี่ยสะสมทุกภาคเรียนต่ำกว่า 1.50

3.7   ค่าระดับขั้นเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 2.00 เป็นเวลา 4 ภาคเรียนต่อเนื่องกัน เมื่อสิ้นสุดการจำแนกในครั้งที่ 4

3.8   ถูกลงโทษถึงที่สุดให้ไล่ออกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณว่าด้วยวินัยนิสิต

การคืนสภาพ

1.     นิสิตอาจได้รับการอนุมัติให้คืนสภาพนิสิตจากอธิการบดี

2.    ต้องชำระเงินค่าคืนสภาพนิสิตตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ภายใน 60 วัน นับจากวันประกาศพ้นสภาพ เนื่องจากพ้นสภาพนิสิต จากกรณีต่อไปนี้

2.1   ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนงานวิชาการที่นิสิตสังกัดให้ลาออกไปแล้วไม่เกิน 60 วัน

2.2   เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งภาคเรียนแล้วไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อรักษาสภาพนิสิต





8

ถาม 

การลาพักการเรียน/การรักษาสภาพการเป็นนิสิต

 

ตอบ 

1.     นิสิตอาจยื่นคำร้องขออนุมัติลาพักการเรียนต่อหัวหน้าส่วนงานวิชาการที่นิสิตสังกัดได้ ในกรณีต่อไปนี้

1.1    มีความจำเป็นส่วนตัวและได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมาแล้วอย่างน้อย 1 ภาคเรียน

1.2    เจ็บป่วยจนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานานเกินร้อยละ 20 ของเวลาเรียนทั้งหมดในภาคเรียนนั้นตามคำสั่งแพทย์ โดยมีใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลของทาง ราชการหรือสถานพยาบาลของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งเป็นของเอกชนและที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

1.3    มีเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศชาติ หรือการได้รับทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศตามที่มหาวิทยาลัยเห็นสมควร

1.4    นิสิตถูกสั่งพักการเรียน

1.5    กรณีมีความจำเป็นอื่นที่ไม่ได้กำหนดไว้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของอธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณา

2.    ได้รับอนุมัติครั้งละไม่เกิน 1 ภาคเรียน

3.    ต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาและได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนงานวิชาการที่นิสิตสังกัด

4.    นิสิตต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมตามระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด

5.    ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน 7 วันทำการของวันเริ่มสอบปลายภาคเรียนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

6.    นับระยะเวลาที่นิสิตลาพักการเรียนรวมในระยะเวลาการศึกษาด้วย



9

ถาม 

การรับโอนนิสิตจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น

 

ตอบ 

มหาวิทยาลัยอาจรับโอนนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่มี
วิทยฐานะเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยต้องมีเงื่อนไข ดังนี้

1.     ไม่เป็นผู้ถูกคัดชื่อออก หรือถูกไล่ออกจากสถาบันอุดมศึกษาใด เนื่องจากถูกลงโทษทางวินัยหรือความผิดทางความประพฤติ

2.    ได้ศึกษาในสถาบันการศึกษาเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ภาคเรียน

3.    มีรายวิชาที่สามารถเทียบโอนกับรายวิชาของมหาวิทยาลัยทักษิณได้ ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต แต่ไม่เกิน 60 หน่วยกิต และค่าระดับขั้นเฉลี่ยของรายวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 2.00

4.    นิสิตต้องยื่นคำร้องขอโอนย้ายถึงมหาวิทยาลัยทักษิณอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันกำหนดลงทะเบียนเรียนของภาคเรียนที่จะโอนเข้าศึกษา

5.    รายวิชาที่จะขอเทียบโอนหน่วยกิต ต้องเป็นไปตามเกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิตและ
ผลการเรียน

6.    ระยะเวลาการศึกษาให้นับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาเดิม

7.    การรับโอนนิสิต ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประจำส่วนงานวิชาการที่นิสิตขอโอนเข้าเรียน และต้องผ่านการเทียบรายวิชา โดยได้รับอนุมัติจากอธิการบดี หรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมาย





10

ถาม 

การเปลี่ยนประเภทนิสิต ภาคปกติ เป็น ภาคพิเศษ

 

ตอบ 

1.     นิสิตภาคปกติและนิสิตภาคพิเศษอาจเปลี่ยนประเภทนิสิตได้ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่ง

2.    ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าส่วนงานวิชาการที่นิสิตสังกัด

3.    ได้รับอนุมัติจากรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมาย

4.    นิสิตต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งชำระเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา
ในอัตราตามประเภทของนิสิตภายหลังจากได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนประเภทนิสิตแล้ว

5.    นิสิตที่เปลี่ยนประเภท จะต้องมีเวลาเรียนในประเภทเดิม มาแล้วอย่างน้อย 2 ภาคเรียน

6.    นิสิตที่เปลี่ยนประเภทต้องโอนจำนวนหน่วยกิตและผลการเรียนในประเภทเดิมทั้งหมดที่ได้เรียนมาแล้วจะโอนเป็นบางรายวิชาไม่ได้

7.    นับระยะเวลาการศึกษาให้นับตั้งแต่เข้าเรียนในประเภทเดิม





11

ถาม 

การย้ายวิชาเอก  วิชาโท  

 

ตอบ 

1.     นิสิตภาคปกติและนิสิตภาคพิเศษสามารถขอเปลี่ยนสาขาวิชา วิชาเอกได้เพียงหนึ่งครั้ง

2.    นิสิตภาคปกติและนิสิตภาคพิเศษสามารถขอเปลี่ยนวิชาโทได้เพียงหนึ่งครั้ง

3.    ต้องลงทะเบียนเรียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ภาคเรียน

4.    ได้รับความเห็นชอบจากประธานสาขาวิชา

5.    ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนงานวิชาการที่นิสิตสังกัด

6.    นิสิตต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมการย้ายวิชาเอก/วิชาโทตามระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด





12

ถาม 

การย้ายคณะ

 

ตอบ 

1.     เป็นนิสิตที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี

2.    ได้ลงทะเบียนเรียนในสังกัดเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ภาคเรียน

3.    มีจำนวนหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต

4.    ไม่เคยได้รับอนุมัติให้ย้ายสังกัดมาก่อน

5.    มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่ส่วนงานวิชาการที่นิสิตจะย้ายสังกัดกำหนด

6.    ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมตามระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด

7.    นิสิตที่ย้ายสังกัดส่วนงานวิชาการต้องโอนรายวิชาและจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดที่เคยได้เรียนมา จะโอนเพียงบางรายวิชาไม่ได้ และให้นำหน่วยกิตดังกล่าวมาคำนวณค่าระดับขั้นเฉลี่ยสะสมทุกรายวิชาด้วย

8.    ระยะเวลาการศึกษาให้นับตั้งแต่วันที่เข้าเรียนในสังกัดส่วนงานวิชาการเดิม





13

ถาม 

การแจ้งคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาล่าช้า 

 

ตอบ 

1.     หากนิสิตไม่ได้ดำเนินการแจ้งคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาตามระยะ
ที่มหาวิทยาลัยกำหนด นิสิตต้องยื่นคำร้องขอแจ้งสำเร็จการศึกษาช้าต่องานทะเบียนเพื่อขออนุมัติแจ้งขอสำเร็จการศึกษาช้า

2.    ต้องชำระเงินค่าปรับขอแจ้งสำเร็จการศึกษาช้าตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด





14

ถาม 

การตรวจสอบจบ (ตรวจเช็ครายวิชาว่าได้เรียนครบตามโครงสร้างหลักสูตรแล้วหรือไม่) 

 

ตอบ 

นิสิตสามารถดำเนินการตรวจสอบจบด้วยตนเองผ่านระบบงานทะเบียนนิสิต โดยเข้าสู่ระบบและเลือกเมนู ตรวจสอบจบ





15

ถาม 

การสำเร็จการศึกษา

 

ตอบ 

1.     นิสิตต้องแจ้งขอสำเร็จการศึกษาผ่านระบบงานทะเบียนนิสิตภายใน 1 เดือนนับแต่วันเปิดภาคเรียน และต้องชำระเงินค่าขึ้นทะเบียนปริญญาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด หากพ้นกำหนดเวลานิสิตต้องยื่นคำร้องแจ้งขอสำเร็จการศึกษาช้า โดยต้องชำระเงินค่าปรับขอแจ้งสำเร็จการศึกษาช้าตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

2.    นิสิตที่จะสำเร็จการศึกษาได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

2.1     นิสิตต้องสอบผ่านและมีผลการประเมินโดยสมบูรณ์ทุกรายวิชาที่ลงทะเบียน ทั้งนี้ต้องมีค่าเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00

2.2    นิสิตได้เรียนครบตามโครงสร้างหลักสูตรที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทักษิณ

2.3    นิสิตต้องผ่านคุณสมบัติอื่นตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

2.4    นิสิตต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติอื่นตามที่หลักสูตรหรือส่วนงานวิชาการกำหนด

2.5     นิสิตต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่อยู่ระหว่างการรับโทษทางวินัย ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยทักษิณ ว่าด้วย วินัยนิสิต





16

ถาม 

การได้เกียรตินิยม

 

ตอบ 

1.     เกียรตินิยมอันดับ 1 ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.1    สอบได้จำนวนหน่วยกิตครบตามหลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) หรือ หลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) หรือหลักสูตรปริญญาตรี (6 ปีขึ้นไป)

1.2   ใช้เวลาเรียนไม่เกินแผนการเรียนที่หลักสูตรกำหนด

1.3   ไม่มีรายวิชาใดที่ได้ระดับขั้นต่ำกว่า C

1.4   ไม่เคยติดสัญลักษณ์ W ในรายวิชาใด

1.5   นิสิตที่มีการเทียบรายวิชาและโอนหน่วยกิตจากสถาบันอื่นทั้ง การศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเกียรตินิยม ยกเว้นนิสิตที่มีการเทียบรายวิชาและโอนหน่วยกิตในรายวิชาของมหาวิทยาลัย หรือรายวิชาที่มหาวิทยาลัยได้ทำข้อตกลงร่วม

1.6   ได้ค่าระดับขั้นเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.60 ขึ้นไป

2.    เกียรตินิยมอันดับ 2 ต้องมีคุณสมบัติตามเกียรตินิยมอันดับ 1 ข้อ 1.1 - 1.5 และได้ค่าระดับขั้นเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.25 ขึ้นไป